Hot Topic!
แฉกลโกง 'บิ๊ก พม.' ชักใย 'ปล้นเงินคนจน'
โดย ACT โพสเมื่อ Mar 09,2018
- - สำนักข่าวคมชัดลึก - -
ผ่านไปเพียง 3 สัปดาห์ในการตรวจสอบปมทุจริตเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปรากฏว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะหน่วยงาน ที่เป็น "หัวหอก" การตรวจสอบ ก็พบหลักฐานการทุจริตของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งถึง 24 จังหวัดเข้าไปแล้ว
รูปแบบการทุจริตก็อย่างที่ทราบๆ กัน คือมี 2 ด้าน ทั้ง "ไป" และ "กลับ" คือผู้ใหญ่ในกระทรวงและในกรม อนุมัติงบประมาณลงไปยังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดต่างๆ จากนั้นข้าราชการในศูนย์ก็ตอบแทนด้วยการส่งคืน "เงินทอน" ให้ผู้ใหญ่ ส่วนเงินที่เหลือก็นำไปแจกจ่าย ผู้ยากไร้และคนไร้ที่พึ่ง แต่ก็ทุจริตด้วยการหัก หัวคิว ปลอมเอกสาร หรือไม่ก็งาบเงินไปดื้อๆ จนชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว
อดีตข้าราชการ พม. เปิดเผยกับ "ล่าความจริง" ว่า การทุจริตเงินงบประมาณที่ใช้ช่วยเหลือคนยากไร้และคนไร้ที่พึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการยังมีสถานะเป็นกรมประชาสงเคราะห์ สังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่องานในความรับผิดชอบเดิมของกรมประชาสงเคราะห์ถูกโอนมาให้กระทรวง พม. และจัดตั้งกรมพัฒนาชุมชนและสวัสดิการขึ้น ก็มีอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงวางสายคนของ ตัวเองเอาไว้จากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้ดำรงตำแหน่งสำคัญภายในกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งถือเป็น กรมที่ใหญ่ที่สุดในกระทรวง และมีการเบิกจ่าย งบประมาณมากที่สุด
จากนั้นคนที่นั่งในตำแหน่งสำคัญของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ก็จะไปวางเครือข่ายคนของตัวเองลงไปคุมศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง รวมถึงนิคมสร้างตนเองในจังหวัดต่างๆ เพื่อรับงบประมาณที่กระจายลงไป โดยสาเหตุที่จ่ายเงินให้ผู้ยากไร้และคนไร้ที่พึ่งไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่สมควรจะได้ ไม่ใช่แค่เป็นเพราะต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็น "เงินทอน" เข้ากระเป๋า "บิ๊ก ระดับกระทรวง" เท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติยังต้องเฉลี่ยเงินไว้ "ดูแลนาย" เมื่อมีการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชาวบ้าน เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี เรียกว่าเป็นการทำ "ไอโอ" หรือ "ปฏิบัติการข่าวสาร" รูปแบบหนึ่ง แต่เป็นไอโอแบบ "ผักชีโรยหน้า"
อดีตข้าราชการ พม. ยังบอกอีกว่า ปัญหาการทุจริตมีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นกรมประชาสงเคราะห์ ก่อนปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่เมื่อปี 2545 โดยงบก้อนนี้เรียกว่า "งบอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชนยากไร้" แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ส่วนที่สองคือเงินสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อ เอชไอวี และส่วนที่สามคือเงินสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยากในประเทศให้กลับภูมิลำเนา แต่เงินในส่วนที่ได้งบอุดหนุนมากที่สุดคือเงินสงเคราะห์ครอบครัว ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง
อดีตข้าราชการกระทรวง พม. ที่ยอมเปิดโปงขบวนการทุจริตกับ "ล่าความจริง" บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าใครก็สามารถบริหารงบในส่วนนี้ได้ เพราะผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงจะเป็นผู้วางหมากทั้งหมด โดยส่งคนของตัวเองไปเป็นผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดต่างๆ หากทำงานดีมี "เงินทอน"
ถูกใจ ก็จะสนับสนุนให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ปกครองนิคมสร้างตนเอง ซึ่งเทียบเท่าข้าราชการระดับ 8 จากนั้นจะให้ผลักดันไปเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมจังหวัด หรือ พมจ. เทียบเท่าข้าราชการระดับ 9 ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง รองอธิบดี อธิบดี ไปจนถึงผู้บริหารกระทรวง
อดีตข้าราชการกระทรวง พม. ถึงกับฟันธงเลยว่า หากใครไม่สามารถหา "เงินทอน" ให้นายได้ ก็ไม่สามารถเดินบนเส้นทางสายนี้ และจะไม่มีโอกาสได้นั่งเก้าอี้สำคัญๆ ในกระทรวง!
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน